096-356-9461 support@rlg-ef.com
Slide
Slide

บูรณาการทักษะสมอง EF กับวิถีจิตศึกษา
พัฒนากระบวนการเรียนรู้ทั้งระบบ ทุกช่วงชั้น
สร้างสรรค์นวัตกรรมนิเทศภายใน
ขยายผลความรู้สู่โรงเรียนเครือข่าย

ก้าวแรกของการขับเคลื่อน EF

โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ เป็นพื้นที่กำลังพัฒนาในเรื่องนวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เริ่มต้นนำองค์ความรู้ทักษะสมอง EF มาใช้ในระดับปฐมวัยก่อนเป็นลำดับแรก ต่อมาเมื่อได้เข้าร่วมเครือข่ายจิตตศึกษากับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จึงได้นำแนวทางการเรียนรู้แบบจิตศึกษามาเป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน แล้วขยายผลบูรณาการไปยังระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะสมองแบบบูรณาการทั้งระบบ ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมตอนต้น พร้อมกับต่อยอดความรู้ของบุคลกรครูในโรงเรียน และขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้การพัฒนาทักษะสมอง EF และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

เป้าหมายและยุทธศาสตร์

จัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะ EF ทั้งระบบ ทั้งครูและผู้เรียน

ผ่านกิจกรรมจิตศึกษา และ Active Learning

 โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำ มีเป้าหมายพัฒนา EF ของผู้เรียนทั้งระบบ ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมตอนต้น โดยบูรณาการความรู้ EF เชื่อมโยงกับกระบวนการเรียนรู้แบบจิตศึกษา ที่พัฒนาผู้เรียนในทุกๆ วันตามโครงสร้างตารางเรียนวิถีเรียนรู้ใหม่ของจิตศึกษา ด้วยวิถีปฏิบัติให้เด็กได้ฝึกฝนใคร่ควรญ กำกับและทบทวนตนเอง ผ่านพื้นที่แห่งความสัมพันธ์และจิตวิทยาเชิงบวกที่ครูสร้างขึ้นในห้องเรียน อาทิ จิตศึกษา Body Scan ผ่านวรรณกรรม ที่ช่วยสร้างพลังเรียนรู้ให้เด็กเข้าสู่บทเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งปัญญาภายนอกและปัญญาภายใน โดยเริ่มจากการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ครูและบุคลากรของโรงเรียน เพื่อให้ครูมีศักยภาพในการสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนการสอน ที่ส่งเสริมพัฒนาการของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย โดยมีการกำหนดนโยบายการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยใช้หลักการจิตศึกษาเป็นแกนหลักในการพัฒนาทักษะ EF ของผู้เรียน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่หลากหลาย ที่เน้นให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะจากการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ได้แก่ เรียนภาษาไทยผ่านวรรณกรรม เรียนคณิตศาสตร์แบบโพลยา เรียนวิทยาศาสตร์แบบสืบเสาะหาความรู้ 5 E และ PBL ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ผ่านโจทย์ ปัญหาที่ต้องการหาคำตอบและการกระตุ้นของครู รวมถึงส่งเสริมการทำงานร่วมกันของครู โดยใช้กระบวนการ PLC (Professional Learning Community) และวงจรบริหารงานคุณภาพ PDCA (Deming Cycle) เพื่อพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน

พัฒนาครูอย่างเข้มข้นด้วย นวัตกรรมการนิเทศภายในโรงเรียน

โรงเรียนคิดค้นนวัตกรรมการพัฒนาครู ด้วยการใช้วงจร PDCA ร่วมกับกระบวนการ PLC เพื่อบริหารการสอนร่วมกันของคณะครูทั้งโรงเรียน ผ่านพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ ที่ครูนำประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนมาสะท้อนผล และแก้ปัญหาให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาเป็นรูปแบบการนิเทศภายในโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ครูและเด็กเปลี่ยนแปลง รวมทั้งโรงเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับสถานศึกษาดีขึ้น

(ภาพ) การทำงานร่วมกันของครู โดยใช้กระบวนการ PLC (Professional Learning Community)

ส่งต่อความรู้ ขยายสู่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

กระบวนการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น เสริมพลังเรียนรู้ของโรงเรียนอย่างไร้ข้อจำกัด ในช่วงสถานการณ์โควิดโรงเรียนจัดให้มีโครงการ “โรงเรียนหยุด เราไม่หยุดการเรียนรู้” ให้ครูและนักเรียนยังมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตามประสบการณ์และหัวข้อการเรียนรู้ที่ตัวเองสนใจ ผ่านการสื่อสารออนไลน์ที่สนุกสนาน มีชีวิตชีวา และนำนวัตกรรมที่บูรณาการทักษะสมอง EF เพื่อการพัฒนาผู้เรียนบรรจุเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่โรงเรียนนำไปเผยแพร่สู่สถานศึกษาในเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ อาทิ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนทุกสังกัด รวมทั้งหน่วยงานภาคการศึกษาที่ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

การพัฒนาองค์ความรู้ และงานเด่นจากการนำความรู้ EF ไปปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นจริง

สร้างพลังเรียนรู้ทั้งครูและนักเรียน พัฒนานวัตกรรมบริหารการศึกษาที่มีคุณภาพ

ครูและบุคลากรของโรงเรียนได้ร่วมกันพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนและการทำงานของครู โดยการต่อยอดความรู้ EF เชื่อมโยงกับแนวทางจิตศึกษา ผนวกเข้ากับหลักสูตรแกนกลางของนักเรียนแต่ละช่วงวัย เกิดเป็นการเรียนรู้รายวิชาที่หลากหลายสำหรับผู้เรียน   ขณะเดียวกันครูผู้สอนก็พัฒนานวัตกรรมการนิเทศภายในโรงเรียน เพื่อคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  • เรียนรู้ภาษาไทยผ่านวรรณกรรม ทั้งวรรณกรรม เรื่องสั้น ต่างๆ ที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับเด็กๆ แต่ละช่วงวัย และสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้
  • การเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบสื่อสาร สร้างทักษะการพูดการฟัง และความเข้าใจ โดยมีครูอาสาต่างชาติ เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียน
  • การเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบสืบเสาะหา 5 E และการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานการเรียนรู้ PBL (Problem Based Learning)
  • พัฒนาการทำงานร่วมกันของครูโดยใช้กระบวนการ PLC (Professional Learning Community) ร่วมกับวงจรบริหารงานคุณภาพ PCDA (Deming Cycle) เพื่อสร้างทีม ค้นปัญหา ออกแบบกิจกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ สะท้อนผล เผยแพร่วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ

(ภาพ) กิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น

ขยายผลความรู้สู่เครือข่าย

โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดบ้านจองคำมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ทักษะสมอง EF ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้นำนวัตกรรมการเรียนรู้ที่บูรณาการทักษะสมอง EF กับวิถีจิตศึกษาไปเผยแพร่ให้กับโรงเรียนเครือข่าย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะ EF ของบุคลากรครูและผู้เรียนร่วมกัน

  • จัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะสมอง EF ให้แก่ครูของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ปางหมู เพื่อให้คุณครูนำความรู้ไปพัฒนาเด็กๆ ในพื้นที่
  • จัดอบรมจิตศึกษาสำหรับโรงเรียนเครือข่ายโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน กลุ่มเป้าหมายคือโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เขต 1 และเขต 2 รวมทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลผาป่อง และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู เพื่อให้ครูนำความรู้จิตศึกษาไปปรับใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับโรงเรียนของตนเอง
  • จัดอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกับสมาคมสถาบันปัญญาวิถี ให้แก่โรงเรียนครือข่าย 23 โรงเรียน
  • จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการจัดประสบการณ์พัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับเด็กปฐมวัย ร่วมกับวิทยาลัยชุมชมแม่ฮ่องสอน ให้แก่ครูปฐมวัยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

(ภาพ) กิจกรรมโยคะของนักเรียนชั้นประถม และกิจกรรมจิตศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยม

ความเปลี่ยนแปลง

จากการนำนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะสมอง EF มาใช้ในหลักสูตรการศึกษาทั้งระบบส่งผลครูและบุคลากรของโรงเรียนมีความพึงพอใจในการทำงาน ทั้งความพึงพอใจต่อคนเองและความพึงพอใจกับผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ขณะเดียวกันผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากคะแนนการวัดผลการศึกษาระดับชาติโดยรวมที่ดีขึ้น

 

กุญแจสู่ความสำเร็จ

  • หน่วยงานต้นสังกัดเห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะสมอง EF และให้การสนับสนุนการดำเนินงาน
  • มีการกำหนดนโยบายพัฒนาหลักสูตรเพื่อส่งเสริมทักษะสมอง EF และแผนงานพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทำให้การทำงานมีเป้าหมายที่ชัดเจน
  • มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนกันและกัน

บทเรียนที่อยากบอกต่อ

“…การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของครูและผู้เรียนผ่านกิจกรรมจิตศึกษา เพื่อพัฒนาโครงสร้างทั้งระบบสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ดีในโรงเรียน ส่งผลให้เกิดการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่ถูกจำกัดเพียงในห้องเรียนและวิชาเรียน แม้ในช่วงที่โรงเรียนต้องหยุดไปในช่วงสถานการณ์โควิด ทางโรงเรียนจัดให้มีโครงการ “โรงเรียนหยุดเราไม่หยุดการเรียนรู้” เพื่อให้ครู และนักเรียนยังมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตามประสบการณ์ และหัวข้อการเรียนรู้ที่ตัวเองสนใจ ผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ ที่สนุกสนาน มีชีวิตชีวา…”

สุนันทา สุภาวสิทธิ์
รองผู้อำนวยการโรงเรียน อบจ.บ้านจองคำ

THAILAND EF PARTNERSHIP

เครือข่ายไทยแลนด์ อี เอฟ พาร์ทเนอร์ชิพ