096-356-9461 support@rlg-ef.com

“ทักษะสมองEF สำคัญต่อ future competency หรือทักษะในศตวรรษที่ 21” รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ (Center of Neuroscience) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า  EFเป็นทักษะที่ทำให้เกิดการกำกับตัวเอง พบว่าเด็กที่มี effort to control จะเป็นตัวนำให้เด็กมี self-regulation ตามมา  มีการติดตามเด็กเล็กที่ถูกทดลองให้อดใจไม่กินขนมที่อยู่ตรงหน้านาน 15 นาที ในระยะยาวเด็กที่อดใจได้มีผลการเรียนดีกว่าเด็กที่รอไม่ได้ การกำกับตนเองนี้มีผลต่อการประสบความสำเร็จในการเรียน เพราะเด็กต้องกำกับตนเองทั้งความคิดและพฤติกรรม 

มีงานวิจัยจำนวนมากพบว่า ถ้า EF ดี เด็กจะกำกับตนเองได้ดี มีผลต่อการเรียนทุกระดับ การกำกับตัวเองต้องใช้ทักษะสมอง EF อย่างมาก และเป็นเรื่องยาก(ทั้งต้องมีเป้าหมาย ต้องหยุด ต้องปรับเปลี่ยน มีสมาธิ)  เด็กจึงต้องมีสถานการณ์ที่ฝึกเด็กให้กำกับตัวเอง ในเด็กเล็กๆ เริ่มตั้งแต่การเข้าคิว รอคอย การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ฯลฯ EFเป็นทักษะที่ฝึกได้ เพราะสมองมีการทำงานในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับจะมีการใช้งานหรือฝึกมันให้ทำงานบ่อยๆ เพื่อให้แข็งแรงหรือไม่ 

EF ทำให้เด็กมี cognitive control, emotional control, effort to control และทำให้เกิด self regulation ตามมา ซึ่งการจะทำอะไรที่ยากและมีเป้าหมายระยะยาว เป้าหมายยิ่งใหญ่ ต้องใช้ทักษะเหล่านี้กำกับตนเองจนสามารถมุ่งสู่เป้าหมาย และแต่ละวัยเป้าหมายก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ เด็กๆ มีเป้าหมายในการเรียน การส่งงาน การสอบ การเรียนต่อ วัยทำงานมีเป้าหมายในการทำงานให้สำเร็จ วางแผนชีวิตตัวเอง ชีวิตครอบครัว และต่อไปอาจจะวางแผนไปถึงเป้าหมายทางสังคม ผลักดันเรื่องทางสังคม ก็จะใช้ EF ที่ยากขึ้นไปอีก ยิ่งเป้าหมายใหญ่เท่าไรก็ยิ่งต้องใช้ EF มากเท่านั้น

ในวัยเรียนทักษะต่างๆ กำลังพัฒนา ทั้งcognitive และ non-cognitive skill โดยเฉพาะทักษะอารมณ์-สังคม เช่นการเข้าใจคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา การช่วยเหลือผู้อื่น การแบ่งปัน เป็นเรื่องสำคัญต่อการเติบโตไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมโลกที่คนเราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น มีการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กัน เป็นทักษะสำคัญที่ใช้ในการทำงานร่วมกับคนอื่นเป็นเรื่องที่สมองต้องคิดตัดสินใจ และทับซ้อนกับทักษะ cognitive ทั้งหลาย ไม่ว่าคณิตศาตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ และทุกวิชา ผู้เรียนต้องใช้ทักษะ EF และ social emotional skill  จะเห็นว่าEF อยู่ตรงกลางระหว่าง cognitive และ non-cognitive skill ทำให้เด็กทั้งเก่งและดี 

EF กับ การไปสู่เป้าหมาย (goal achievement) โดยเฉพาะเป้าหมายระยะยาว ระหว่างทางเราอาจเจอทางแยกอยู่หลายแยก หรือมีสิ่งที่สนุกสบายอยู่ระหว่างทางชวนให้วอกแวก แต่ถ้าเรามี EF ที่ดี เราจะไม่วอกแวกไปจากเป้าหมาย เราจะสามารถหยุดความต้องการแล้วมุ่งมั่นต่อไปได้ หรือคนที่มีงานหลายๆ งานในเวลาเดียวกัน ก็ต้องใช้ EF ในการมุ่งเป้าหมายทำงานให้เสร็จในเวลาที่กำหนด

EF กับความคิดยืดหยุ่น  คนที่มี EF ดีเวลามีปัญหาจะมีทางออก สามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ใช้อุปสรรคให้เป็นประโยชน์ ที่สำคัญมากในช่วงวัยรุ่นซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงทั้งสมองและพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย เป็นวัยที่มีความหุนหันพลันแล่นสูง หาสิ่งกระตุ้นภายนอกมาทำให้ตัวเองรู้สึกพึงพอใจมีความสุข เด็กที่ถูกฝึกมาให้รู้จักคิด ตัดสินใจ คาดการณ์ผลที่จะตามมา พอเป็นวัยรุ่นจะไม่เอาตัวเข้าไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงหรือถอยออกมากมา ส่วนเด็กที่ไม่เคยถูกฝึกเลยมีโอกาสที่จะทำผิดจากความหุนหันพลันแล่น ไม่หยุดคิดได้มาก  EFจึงเป็นทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยพ่อแม่และครอบครัวมีบทบาทสำคัญ

เพราะฉะนั้น เรื่อง Inhibitory Control จึงเป็นเรื่องหลักที่ต้องพัฒนาในเด็กอนุบาล เราต้องฝึกเด็ก 3 ขวบให้หยุดได้ คอนโทรลตัวเองให้ช้าหรือเร็วได้ เด็กเล็กๆ อาจจะหยุดได้ไม่ดี แต่ถ้าเราให้เวลาเด็กฟังคำสั่งให้ดี ให้หยุดคิด เด็กก็จะทำได้ทำเป็น เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กทำได้เรื่อยๆ ครูอนุบาลต้องรู้ว่าเด็กแบบไหนที่มีปัญหาในการหยุด หรือวัยไหนที่เด็กสามารถหยุดได้  พอใกล้ๆ จะเข้าชั้นประถม เด็กควรมี emotional control, effort to control, self-regulation แล้ว เพื่อที่เด็กจะนำไปใช้ในการเรียน ซึ่งสมองที่เกี่ยวข้องกับการเรียนที่ทำให้มีการรู้คิด(Metacognition)เริ่มพัฒนาแล้ว ส่วนพัฒนาการ EF ที่จะตามมาในวัยเรียนเป็นเรื่อง planning, initiation, reasoning, self-monitoring, task management เด็กอนุบาลยังไม่มีทักษะเหล่านี้ แต่เด็กบางคนอาจจะทำได้ ก็ส่งเสริมให้เด็กคนนั้นมีทักษะที่ยากขึ้นได้

ในเด็กโตถ้าพัฒนาการปกติ เด็กจะมีทักษะพื้นฐานในการกำกับตัวเอง เหลือแต่การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในสถานการณ์ที่ยากขึ้นๆ ซึ่งต้องฝึก ไม่เช่นนั้นเด็กจะมีปัญหาที่พบบ่อยเช่น ทำงานไม่เสร็จ ไม่ส่งงาน มาสายตลอด จัดการกิจวัตรประจำวันได้ไม่ดี เช่น การกิน การนอน การตื่น การเตรียมตัวไปเรียน 

ส่วนเด็กเล็กมักมีปัญหา หยุดไม่ค่อยได้ จำไม่ค่อยได้ เปลี่ยนไม่ค่อยได้ ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ เด็กอนุบาลถ้าได้เตรียมเรื่องเหล่านี้ดี พอถึงประถมเด็กจะพร้อมกับการเรียนอย่างมาก พอ ป.2-ป.3 เด็กจะไปได้เร็วกว่าเด็กที่ไม่พร้อมในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น ถ้าเราไปฝึกเรื่องการเรียนเขียนอ่านก่อนในระดับชั้นอนุบาล ก็เป็นเรื่องผิดวัย ควรไปเริ่มที่วัยประถมแล้วเริ่มให้ดี พอมัธยมพ่อแม่จะไม่เหนื่อย