096-356-9461 support@rlg-ef.com

รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ (Center of Neuroscience) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสมองส่วนหน้าซึ่งทำงานเหมือน CEO ของสมอง บริหารเน็ตเวิร์กที่ทำให้มนุษย์เรามีความสามารถในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะทักษะสมอง EF

โดยกล่าวว่า สมองส่วนหน้ามีหลายบริเวณ แต่ละบริเวณมีการเชื่อมโยงกันของเซลล์ประสาทเป็นเครือข่าย(network)ต่างๆ และแต่ละเครือข่ายมีหน้าที่ที่แตกต่างกัน เน็ตเวิร์กสมองเกิดขึ้นตั้งแต่ 3 ขวบ เช่นเน็ตเวิร์กที่รับรู้ความรู้สึก เด็กเริ่มรู้ว่าตนเองรู้สึกอย่างไร เริ่มรับรู้อารมณ์คนอื่นว่ารู้สึกอย่างไร แต่เน็ตเวิร์กนี้ยังทำงานไม่ชัดเจนจนกว่าจะเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ กระบวนการพัฒนาเน็ตเวิร์กนี้เรียกว่า Frontalization คือการเอาโครงสร้างพื้นฐานของสมองมาเชื่อมโยงเป็นเน็ตเวิร์กและคอนโทรลโดย Prefrontal Cortex  พัฒนาโดยมีประสบการณ์มาใช้หรือฝึกให้สมองทำงาน กระบวนการนี้จะเริ่มสมบูรณ์เมื่อเป็นวัยรุ่นซึ่งสมองส่วนหน้าจะกลายเป็น CEO  มีการเชื่อมโยงกับสมองส่วนอื่นและสมองรับความรู้สึกอย่างมากในช่วงนี้ เป็น กระบวนการที่ใช้เวลายาวนานตั้งแต่เล็กจนเป็นผู้ใหญ่

Social network (เน็ตเวิร์กอารมณ์ สังคม) เช่น การที่เราเห็นคนอื่นแล้วเข้าใจไปถึงจิตใจของเขาว่าเขารู้สึกนึกคิดอย่างไร เป็นการทำงานของสมองส่วนหน้าด้านข้างซึ่งการทำงานที่ใช้ skill สูงๆ จะเป็นการทำงานของสมองส่วนนี้

Attention network คือการจดจ่อ พยายามใช้สมาธิกับเรื่องตรงหน้าเพื่อทำความเข้าใจ  ต้องใช้เน็ตเวิร์กที่สลับกันไปมา เพราะเป็นสมาธิที่ต้อง alert ด้วย ซึ่งใช้ฮอร์โมนเอพิเนฟริน ซึ่งเป็นฮอร์โมนตัวเดียวกับเวลามีความเครียด แต่สำคัญที่ต้องอยู่ในระดับพอดีๆ ความเครียดที่ดีเรียกว่า Eustress คนเราต้องมีความเครียดนิดๆ ไม่เช่นนั้นจะเฉื่อย คอร์ติโซลปริมาณน้อยๆ จะช่วยให้แขนงประสาทแตกแขนง เกิดไซแนปส์ใหม่ๆ ดีต่อ performance  เช่นความเครียดในเด็กที่กำลังเตรียมตัวสอบ ต้องกระตือรือร้นอ่านหนังสือ พอสอบเสร็จแล้วความเครียดก็หายไป เพราะฉะนั้นในการเรียนการสอนเราจะต้องให้เด็กมีความตื่นตัวตื่นเต้นนิดๆ อยู่ตลอดเวลา

สมองที่เกี่ยวข้องกับความตื่นตัวคือ Lateral Fronto-Parietal lobe ส่วนการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (oriented) มันไม่เหมือนกับการจดจ่อกับโทรศัพท์มือถือ เกม ทีวี แต่เป็นการจดจ่อที่คอยดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป เป็นวงจรที่ alert-oriented-execute(ตั้งใจดูว่าข้อมูลมี conflict หรือไม่ แล้วตัดสินใจ)  ใช้ในการจดจ่อใส่ใจ(attention) ซึ่งใช้ Superior & Inferior-Parietal lobe พอต้องตัดสินใจเมื่อมีข้อมูลที่ขัดแย้ง ไม่เป็นไปตามที่คาดคิด หรือการหยุดคิดแล้วตัดสินใจ เป็นหน้าที่ของ Anterior Cingulate cortex เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่การทำงานของ Frontal lobe อย่างเดียว Frontal เหมือนผู้จัดการ และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเหมือนหัวหน้าแผนก แรกๆ Frontal สั่งให้เน็ตเวิร์กเหล่านี้ทำงาน แต่เมื่อทำต่อไปเรื่อยๆ ก็จะทำได้คล่องจนเป็นอัตโนมัติ

เด็กที่สามารถจดจ่อได้ทันที เช่นเล่นๆ อยู่แล้วหยุดมาโฟกัสกับสิ่งตรงหน้า สิ่งที่ครูสอนได้ หมายความว่าเน็ตเวิร์ก attention, execution มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันนี้พบว่า ความผิดปกติของเน็ตเวิร์กเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงกับโรคทางพัฒนาการ เช่น สมาธิสั้น ออทิสซึ่ม

Attention network สำคัญต่อทักษะสมอง EF ถ้า Attention network ไม่ดี สมาธิไม่ดี working memory ก็จะไม่ดีด้วย

เห็นได้ว่าสมองส่วนหน้าสุดจะค่อยๆ พัฒนามาเป็นสมอง CEO ทำให้เรากำกับควบคุมตนเองได้ ทั้งการกระทำและการมีสมาธิจดจ่อ ถ้ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นแล้วเราตอบสนองทันที แสดงว่าไม่ได้มีการควบคุมจาก Prefrontal cortex  แต่ถ้าเราสามารถหยุดคิดไตร่ตรอง ไม่แสดงออกไปทันที แสดงว่า Prefrontal cortex ทำงานเชื่อมโยงกับ Motor cortex, Basal Ganglia, Cerebellum เครือข่ายนี้ไม่ทำให้เราตอบสนองออกไปทันที มีการหยุดคิดก่อนว่าต้องทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้

  Prefrontal cortex ที่เชื่อมโยงกับ Parieto Occipito-Temporal (เปลือกสมองใหญ่โยงกันอยู่ โดยมี Prefrontal cortex เป็นศูนย์กลาง) ทำให้เรามีสมาธิจดจ่อ มีความจำดี

เน็ตเวิร์กเหล่านี้กว่าจะทำงานได้คล่องเป็นอัตโนมัติ ก็ต้องกระตุ้นเน็ตเวิร์กให้ทำงานบ่อยๆ ฝึกฝน โดยอาศัย input จากพ่อแม่ จากครู จากสิ่งแวดล้อมที่เด็กใช้ชีวิตอยู่ มาทำให้สมองเด็กค่อยๆ พัฒนาศักยภาพในการกำกับควบคุมตนเองทีละน้อย ทำให้เด็กมีทักษะสมอง EF และการเรียนรู้ที่ดีตามมา หรือการฝึกทักษะสมอง EF ตั้งแต่เด็กๆ ก็เป็นการฝึกให้เน็ตเวิร์กสมองทำงานจนเชี่ยวชาญเช่นกัน