096-356-9461 support@rlg-ef.com

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า พัฒนาการด้านตัวตน (Self) ของคนเราที่สำคัญมี 3 ขั้นตอนด้วยกัน

ขั้นแรก“แม่มีอยู่จริง” คือเมื่อเด็กอายุประมาณ 6 เดือน เป็นขั้นที่เรียกว่า object consistency วัตถุมีอยู่จริง ซึ่งนพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้ให้คำจำกัดความเรื่องนี้ให้เข้าใจง่ายๆ ว่าวัตถุแรกที่เด็กควรรู้ว่ามีอยู่จริงคือ “แม่มีอยู่จริง” ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแม่แท้ๆ แต่หมายถึงผู้เลี้ยงดูหลัก พ่อ ตา ยาย หรือในสถานที่ที่มีพี่เลี้ยงดูแล ทำ

สำหรับทารกอายุไม่ถึง 6 เดือน ถ้าแม่อยู่ในสายตา จับต้องได้ ได้กลิ่น แสดงว่ามีแม่อยู่ ถ้าแม่เดินออกไปล้างขวดนม ออกไปนอกสายตา เด็กจะไม่รู้ว่ามีแม่อยู่  เด็กจะเกิดความรู้สึกว่าแม่มีอยู่จริงได้หากใน 0-6 เดือน ทารกได้รับการตอบสนองเมื่อร้องไห้หิวนม แม่หรือผู้เลี้ยงดูหลักเดินมาหา มองหน้า อุ้ม สัมผัส ให้กินนม ลิ้มรส ลงท้อง ท้องอิ่ม ทำให้สบายตัวสบายใจ ทำซ้ำๆ จน 6 เดือนผ่านไป พอลูกร้อง แม่แค่ส่งเสียงให้ลูกได้ยิน เด็กก็สามารถหยุดร้องได้

เด็กหยุดร้องไห้ได้เพราะการตอบสนองซ้ำๆ นั้นสร้างความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจให้เด็ก เด็กมั่นใจว่ามีใครบางคนที่คอยให้ความอบอุ่นปลอดภัยแม้ในเวลาที่มองไม่เห็นคนๆ นั้น ในทางจิตวิทยาเรียกว่า “แม่อยู่จริง” หรือวัตถุที่มีอยู่จริง เป็นความมั่นคงทางจิตใจอย่างแรกในชีวิตของเด็ก

ขั้นที่สอง การสร้างความผูกพัน คือขั้นการสานสัมพันธ์กับวัตถุ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 8 เดือนเป็นต้นไป โดยมีพัฒนาการขั้นที่หนึ่งเป็นพื้นฐาน เด็กจะต้องมี “แม่ที่มีอยู่จริง” ก่อนแล้วสร้างสานความสัมพันธ์ ความผูกพันกับแม่(หรือผู้เลี้ยงดูหลัก) 

ขั้นที่สาม การเริ่มมีตัวตน คือขั้นแยกตัวตนออกจากวัตถุ เกิดขึ้นในวัย 2-3 ขวบ เด็กสามารถแยกตัวเองออกจากแม่ได้ เริ่มรู้ว่าตัวเองกับแม่เป็นคนละหน่วย ไม่ใช่คนๆ เดียวกัน เด็กช่วงนี้จะเริ่มรู้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับพ่อแม่          ตัวตนยังมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทั่วไปเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ขวบ ยังไม่สามารถแสดงตัวตนออกมาได้มากนัก เช่นแสดงความชอบไม่ชอบ ความต้องการต่างๆ เนื่องจากยังขาดทักษะทางด้านภาษาและทางร่างกาย แม่หรือผู้ดูแลควบคุมดูแลเด็กทั้งหมด จนกระทั่ง 2-3 ขวบจึงจะพูดบอกหรือแสดงท่าทางได้ เด็กเริ่มรู้ว่าตัวเองมีตัวตน มีความรู้สึกนึกคิด และเมื่อเด็กเดินได้ เด็กจะออกสำรวจโลก เริ่มแยกตัวเองออกห่างจากแม่

“ครูมีอยู่จริง”

พัฒนาการตัวตน 3 ขั้นตอนยังเป็นpatternในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ด้วย เช่น เมื่อเด็กเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมจากบ้านมาที่โรงเรียน ขั้นแรก “ครูต้องมีอยู่จริง” คือครูสามารถตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจได้เหมือนแม่ที่ตอบสนองเรื่องกินอยู่หลับนอน ตอบสนองความกังวลความกลัวของเด็ก หากครูสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ได้อย่างมั่นคง ต่อเนื่อง “มั่นคง ปลอดภัย ไว้ใจได้” แสดงว่าครูมีอยู่จริง

ขั้นต่อไปคือขั้นผูกพันกับครู เมื่อเริ่มผูกพัน เด็กจะกล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งแสดงว่าเด็กตระหนักถึงการมีตัวตนของตัวเอง และครูตระหนักว่าตัวตนของเด็กมีอยู่จริง  

EF ของเด็กจะไม่ทำงานถ้าเด็กรู้สึกไม่มีตัวตน  ครูไม่มีอยู่จริง