ในมุมมองของนักประสาทวิทยา รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ได้แสดงความคาดหวังอยากเห็นการศึกษาในบ้านเราพัฒนาก้าวไกลทัดเทียมประเทศที่ก้าวหน้าทั้งหลาย โดยได้หยิบยกประสบการณ์ของต่างประเทศ ที่หน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าหน่วยงานวิทยาศาสตร์โดยตรง หรือ socialscience, neuroscience & education ให้การสนับสนุนภาคการศึกษา โดยทำงานวิจัยและป้อนข้อมูลให้กับภาคการศึกษา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่นเป็นข้อมูลประกอบการวางนโยบายทางการศึกษา การออกแบบหลักสูตร การพัฒนาครู เป็นต้น โดยเฉพาะในเรื่องบทบาทสมองที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กทุกช่วงวัย
รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ เล่าประสบการณ์ของเพื่อนคนจีนที่เรียนจบวิทยาลัยครู ทั้งปริญญาตรี โท เอก แต่มีความสนใจ neuroscience อย่างมาก ได้ไปเรียนรู้เรื่อง Brain-Mind-Learning ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด แล้วกลับมาประเทศจีนขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาโดยใช้ความรู้ด้านสมองเป็นฐาน (brain science & education) ซึ่งเป็นงานที่หนักมากเพราะประเทศจีนเป็นประทศใหญ่ การจะขับเคลื่อนให้ครูจำนวนมากเห็นไปในทางเดียวกัน เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์กับการศึกษาเป็นเรื่องยาก มีการจัดการประชุม China Brian & Education Meeting ประจำปีที่เมืองซีอาน เป็นการประชุมระดับนานาชาติของ neuroscience & education เชิญครูทั่วประเทศมารับรู้ความคืบหน้าของ neuroscience & education เพื่อให้ครูนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน
รัฐบาลจีนสนับสนุนงบประมาณให้มีการวิจัยเกี่ยวกับสมองและการเรียนรู้ เพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการออกแบบหลักสูตร โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพทัดเทียมนานาประเทศ ทั้งในเรื่องความรู้ เศรษฐกิจ และพฤติกรรม นอกจากนั้นในประเทศจีนยังมีนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอยู่ในวิทยาลัยครูด้วย ทำงานวิจัยเพื่อเอาข้อมูลมาสนับสนุนการเรียนการสอน การออกแบบหลักสูตร เทคนิคในการเรียนรู้ต่างๆ
จะเห็นว่าการสนับสนุนจากภาครัฐสำคัญมาก รัฐบาลจีนสนับสนุนทั้งงบประมาณ บุคลากร เครื่องมือต่างๆ เพื่อสร้างต้นแบบที่จะนำไปใช้ทั่วประเทศ
สำหรับประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ มองว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่วงการการศึกษาบ้านเราเริ่มให้สำคัญกับความรู้เรื่องสมอง โดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยราชภัฏมีหลักสูตรความรู้เรื่องสมองและทักษะสมองEF ให้นักศึกษาครูได้เรียน และมองต่อไปว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดผลที่ชัดเจน แต่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนาความรู้ของครูไทย เห็นว่าครูส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการข้อมูลวิชาการ แต่ต้องการกิจกรรมที่จะไปปฏิบัติในชั้นเรียน ซึ่งควรต้องเปลี่ยน ครูควรเป็นผู้แสวงหาความรู้ เรียนรู้ทำความเข้าใจอยู่ตลอดเวลา เพราะการพัฒนาเด็กต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกัน ครูต้องมีหลักความรู้ที่แน่นแล้วนำไปปรับใช้ได้ แล้วสังเกตดูผลที่จะเกิดกับเด็กว่าเป็นอย่างไร
สุดท้ายเชื่อมั่นว่าการโฟกัสที่เรื่องทักษะสมอง EF เป็นเรื่องที่ถูกต้องถูกทาง ถ้าเด็กคิดเป็น รู้จักตัดสินใจเลือก รู้ผลจากการเลือกการตัดสินใจ เด็กต้องเป็นคนเก่งอย่างแน่นอน ถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนต้องมาเน้นฝึกเด็กให้มีทักษะเหล่านี้
Recent Comments