096-356-9461 support@rlg-ef.com

มีคำถามมาถามคุณครูปฐมวัย…

          ถ้าคุณครูเห็นเด็กอนุบาลตัวน้อยในความดูแลของคุณครูคนหนึ่งอยู่ดีๆ ก็ตีเพื่อน คุณครูจะพูดอะไรกับเด็กคนนั้น?

          “ทำไมหนูตีเพื่อนล่ะคะ”

          “ตีไม่ได้นะคะ เพื่อนเจ็บ”

          “หนูตีเพื่อน ไม่ดีนะคะ”

          “ครูรู้ว่าหนูโกรธเลยตีเพื่อน”

          ฯลฯ

          คำตอบแบบใดเหมาะสมที่สุด มาดูความเห็นของ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอธิบายว่า

ถ้าคุณครูพูดว่า “ทำไมหนูตีเพื่อนล่ะคะ ตีไม่ได้นะคะ เพื่อนเจ็บ” “หนูคิดว่าเพื่อนเจ็บไหมคะ” “หนูตีเพื่อนเพราะอะไรคะ” เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิด ครูเข้าข้างเพื่อน “ครูไม่มีอยู่จริง”  เด็กจะหันไปใช้วงจรปกป้องตัวเอง จะต่อต้าน โกหก โทษคนอื่น 

“ครูที่มีอยู่จริง” หมายความว่าครูต้องเป็นที่พึ่งให้กับเด็กได้ วิธีตอบสนองของครูจะต้องทำให้เด็กรู้สึกมีตัวตน ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของเด็ก เด็กเป็นคนสำคัญของครู ครูร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วย  เด็กจึงจะสามารถควบคุมอารมณ์ได้   

ถ้าคุณครูพูดว่า “ครูรู้ว่าหนูโกรธเลยตีเพื่อน” เป็นการพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกของเด็กก่อนโดยไม่ตัดสิน แสดงความเข้าใจเด็ก เด็กจะรู้สึกว่าครูมีอยู่จริง ตัวตนของเด็กมีอยู่จริง (Self) เด็กจะมีโอกาสเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ตนเอง (EF) 

ดังนั้น การที่ครูเข้าใจพัฒนาการของเด็กว่าเด็กยังอยู่ในวัยที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หรือไม่รู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในอารมณ์ใด รวมทั้งใส่ใจในเรื่อง Self หรือตัวตนของเด็ก ก่อนสอนเด็กให้รู้จักอารมณ์ของตนเองและสอนให้ควบคุมอารมณ์  เป็นการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม คือพัฒนาทั้งพัฒนาการทั่วไป 4 ด้าน ไปพร้อมๆ กับพัฒนาด้านตัวตน(Self) และทักษะสมอง EF 

การพัฒนาเด็กองค์รวมแบบนี้จะทำให้เด็ก…

ด้านตัวตน มีความเชื่อมั่นและมีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีความสุข

พัฒนาการ 4 ด้านสมวัย มีทักษะ 4 ด้านสมวัย

EF ดี มีทักษะการคิดและการกำกับตนเองให้บรรลุเป้าหมายได้

คำถามข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ครูปฐมวัยจะต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการ เรื่อง Self และ EF ไปจัดการห้องเรียนปฐมวัย ซึ่งแต่ละวันคุณครูจะเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องมีการจัดการแบบนี้มากมาย หากคุณครูมีการจัดการและการบริหารห้องเรียนปฐมวัยเชิงบวกโดยใช้ความรู้ดังกล่าวมาเป็นหลัก ก็จะทำให้คุณครูจัดการได้อย่างเหมาะสม ทำให้เด็กๆ ได้รับโอกาสพัฒนาทุกด้านอย่างสมบูรณ์