096-356-9461 support@rlg-ef.com

“มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ คือมีจำนวนมากและกระจายกันอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เป็นจุดแข็งที่สำคัญ” เป็นคำกล่าวของผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ซึ่งปัจจุบันเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ในปี 2562 อาจารย์รัฐกรณ์ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปรับหลักสูตรการศึกษาคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจากหลักสูตร 5 ปีเป็นหลักสูตร 4 ปี และนำองค์ความรู้ EF มาพัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อให้อาจารย์ในภาควิชาปฐมวัยศึกษาของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน

อาจารย์มองว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการจะขับเคลื่อนอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นถ้าเราจะขับเคลื่อนอะไรที่ใหม่ๆ ไม่ว่าเรื่องการปรับหลักสูตร เรื่อง EF ต้องให้มหาวิทยาลัยราชภัฏร่วมมือกัน และที่ก่อตั้งสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้เป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ

“ในอดีตก่อนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ เราเคยเป็นวิทยาลัยครู ซึ่งสังกัดกรมเดียวกัน เมื่อสังกัดกรมเดียวกัน นโยบายต่างๆ ก็ทำเหมือนกัน แต่เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นเป็นนิติบุคคล มีความเป็นอิสระ จากกัน ต่างคนต่างบริหาร  ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อต่างคนต่างอยู่ก็มีความแตกต่างหลากหลาย กระจัดกระจาย และที่สำคัญคือไม่มีพลัง

“พอผมมาเป็นคณบดีก็เห็นความแตกต่างหลากหลายชัดเจน เช่นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)เดิม (หรือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในปัจจุบัน) จัดโควต้าครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  ซึ่งการผลิตครูนั้นมีทั้งระบบปิดและระบบเปิด ระบบเปิดคือสอบบรรจุ ส่วนระบบปิดคือระบบโควต้าที่เมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้วก็บรรจุเป็นครูในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นเลย  แต่ตอนนั้นหลายมหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ได้รับโควต้า โดยสกอ.บอกว่าเพราะหลายแห่งไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพแล้ว จึงไม่ได้รับการจัดสรรโควต้า ซึ่งถ้าปล่อยไปแบบนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ไม่ได้รับการพัฒนาก็จะมีปัญหา

“ดังนั้นจึงมีความคิดว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องมารวมกัน ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ตอนนั้นเรามีที่ประชุมคณบดีแต่ยังไม่มีระบบที่ชัดเจน โดยเฉพาะในการประชุมพูดคุยกัน เรื่องสำคัญต่างๆ ไม่ได้มีการบันทึก ประเด็นที่หารือไม่ได้มีการขับเคลื่อน ผมจึงคิดว่าควรจะมีการจัดตั้งเป็นสภาคณบดี มีข้อบังคับ ระเบียบในการปฏิบัติ ใช้มติที่ประชุมขับเคลื่อนนโยบาย นี่คือที่มาของการจัดตั้งสภาคณบดีฯ ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีตัวตนที่ชัดเจน มีพลัง มีกฎระเบียบในการดำเนินการที่จะมาขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ

 “เราต้องใช้ศักยภาพตรงนี้ ตอนที่ผมเป็นประธานสภาคณบดีฯ มีหน่วยงานต่างๆ วิ่งเข้ามาหา ใครๆ ก็อยากมาช่วย มาร่วมมือ

“ถ้าจับมือกันก็มีพลัง  แต่ถ้าเราต่างคนต่างอยู่ก็ไม่มีพลัง ไม่มีใครอยากมาคบค้าด้วย”