096-356-9461 support@rlg-ef.com

เพื่อพัฒนาอาจารย์ในสาขาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตร “สมองกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย”ทั้งด้านทัศนคติ ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมอง EF-Executive Functionsในเด็กปฐมวัยรวมทั้งให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องสมอง การเรียนรู้ และทักษะสมอง EF แก่นักศึกษาครูปฐมวัยทั้งในภาคทฤษฎีและการปฏิบัติได้  

       

ผู้เข้าร่วม        อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยในทุกภูมิภาคจำนวน 190 คน
แบ่งเป็น 2 รุ่น

วันที่จัดอบรม    รุ่นที่ 1 วันที่ 21- 24 พฤษภาคม 2562 ที่โรงแรมสีมาธานี จ.นครราชสีมา รวม 4 วัน

                    รุ่นที่ 2 วันที่ 2-5 มิถุนายน 2562 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ รวม 4 วัน

แนวทางและกระบวนการ

  1. จัดทำหลักสูตรการอบรม  โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการปฐมวัยศึกษา ด้านทักษะสมอง EF และด้านวิทยากรกระบวนการ
  2. ประสานงานและรับผู้เข้ารับการอบรมจากอาจารย์ด้านการศึกษาปฐมวัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ จำนวน 2 รุ่นๆ ละ 80-100 คน
  3. จัดทำเอกสารเพื่อการประเมินผลการอบรมและการนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน เป็น 3 ระยะได้แก่

3.1 แบบประเมินก่อนรับการอบรม (pre-test) สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ

3.2 แบบประเมินหลังรับการอบรม (post-test) สำหรับอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ

3.3 เอกสารสำหรับการติดตามประเมินผลการนำความรู้ไปใช้ในการสอนนักศึกษา

     อย่างน้อย 3 ครั้งต่อ 1 ภาคการศึกษา

3.4 แบบประเมินก่อนและหลังการเรียน (pre-test & post test) สำหรับนักศึกษา

  • จัดการอบรมแบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning – PL) โดยอาจารย์ผู้เข้ารับการอบรม ทำ pre-test ก่อนรับการอบรม
  • อาจารย์ผู้เข้ารับการอบรม ทำ post-test หลังการอบรม
  1. จัดการอบรมแบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning – PL) โดยอาจารย์ผู้เข้ารับการอบรม ทำ pre-test ก่อนรับการอบรม
  2. อาจารย์ผู้เข้ารับการอบรม ทำ post-test หลังการอบรม
  3. การติดตามประเมินผลอาจารย์ในการนำความรู้ไปใช้สอนนักศึกษาโดยใช้เอกสาร

             

สรุปผลการจัดอบรม

การออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัยหัวข้อ “สมองกับการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย” ใช้หลักการบูรณาการสมองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นแนวทางในการออกแบบโครงร่างของหลักสูตรฯ ซึ่งเป็นแนวทางการสอนที่บูรณาการทั้งเนื้อหา กระบวนการสอน และการประเมิน โดยเป้าหมายของหลักสูตรฯ คือ ผู้เข้าอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านเจตคติ

ตัวชี้วัดด้านความรู้ความเข้าใจ มีแบบทดสอบด้านความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดประสบการณ์เรียนรู้ตามหลักบูรณาการสมองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาปฐมวัย ก่อนการอบรม หลังการอบรม  

ตัวชี้วัดด้านเจตคติ ใช้แบบประเมินการรับรู้ความสามารถของตนเองในการวางแผนและจัดกระบวนการสอนในสาระวิชาสมองและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย รวมถึงการสะท้อนบอกความรู้สึกถึงความสำคัญในวิชาชีพของตนเองในฐานะอาจารย์สาขาการศึกษาปฐมวัย และเจตคติที่มีต่อนักศึกษาสาขาการศึกษาปฐมวัยเป็นระยะๆ ตลอดการอบรม

ตัวชี้วัดด้านทักษะในการวางแผนการจัดกระบวนการสอนตามหลักการทำงานของสมอง EF และกระบวนการเรียนรู้แบบ PL มาบูรณาการร่วมกันเป็นวิธีการสอน ใช้การเปิดเวทีให้ผู้เข้าอบรมสาธิตการประยุกต์ใช้เนื้อหาความรู้ด้านสมองในการวางแผนการจัดการเรียนการสอน และกระบวนการทวนแผนการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องตามหลักการบูรณาการฯ

ผลที่ได้รับปรากฏเป็นหลักฐานประจักษ์แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายของการอบรมครั้งนี้ คือ

  1. ผู้เข้าอบรมสะท้อนบอกได้ว่า การเรียนรู้ที่ทำให้ตนเองเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดจากการได้รับประสบการณ์ตรง โดยใช้ทักษะสมอง EF ของตนเองในการเข้าร่วมกิจกรรมและกระบวนการของวิทยากร
  2. ผู้เข้าอบรมสามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองและความเชื่อมั่นในศักยภาพของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ว่าจะสามารถเกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ได้จากกระบวนการจัดการเรียนการสอนตามหลักบูรณาการฯ ที่ผู้เข้าอบรมได้ร่วมกันออกแบบเอง
  3. ผู้เข้าอบรมแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการออกแบบกิจกรรม กระบวนการเรียนการสอน และการทบทวนแผนการจัดการเรียนการสอน บนฐานของหลักการเดียวกัน คือ หลักการบูรณาการสมองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง และเป้าหมายเดียวกัน คือ การจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่มีคุณภาพเพียงพอให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติ เกิดการเติบโตทางความคิด พัฒนาไปสู่การเป็นครูปฐมวัยที่มีคุณภาพ

สรุปความคิดเห็นจากคณาจารย์ที่เข้ารับการอบรมทั้ง 2 รุ่น

1.ได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องทักษะสมอง EFและเห็นความสำคัญของทักษะสมอง EF

  • ได้ความรู้เรื่องโครงสร้างและกระบวนการทำงานของสมอง และสมอง 3 ส่วน ได้รู้ชัดว่า EF มีอยู่จริง เป็นเรื่องที่จับต้องได้ และเป็นวิทยาศาสตร์ ได้เข้าใจ EF แต่ละด้านอย่างลึกซึ้ง จนสามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม สามารถเห็นภาพอย่างชัดเจน มองทะลุว่าจะนำความรู้เรื่องสมอง เรื่อง EF ไปใช้เชื่อมโยงกับการสอนได้อย่างไร นำไปบูรณาการในกิจกรรมต่างๆ ที่จะสอนนักศึกษาได้อย่างไร
  • ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะสมองของเด็กปฐมวัย และการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่จะสัมฤทธิ์ผลคือการพัฒนาทักษะสมอง EF
  • ได้รู้ว่าการสอนนักศึกษาให้รู้แค่เพียงว่าสมองคืออะไร เป็นอย่างไรไม่เพียงพอ ต้องสอนให้รู้ด้วยว่าจะต้องพัฒนาสมองอย่างไร ด้วยอะไร เพราะอะไร และจะต้องจัดกิจกรรมอย่างไรให้สอดคล้องกับธรรมชาติของสมอง
  • ได้รู้ว่าบ้าน โรงเรียน สิ่งแวดล้อม มีความสำคัญต่อการส่งเสริม EF และบ้านมีความสำคัญยิ่ง ได้ตระหนักว่าครูปฐมวัยมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับเด็ก และครูของครูปฐมวัยก็ยิ่งมีความสำคัญมากเช่นกัน
  • ได้เห็นความสำคัญของการสร้างประสบการณ์ให้กับเด็ก ประสบการณ์เดิมที่มีคุณภาพจะนำไปสู่ประสบการณ์ใหม่ที่มีคุณภาพ เข้าใจถึงความสำคัญของการทำซ้ำๆ บ่อยๆ การใช้เวลาฝึกฝน เพราะจะกลายเป็นทักษะและสมรรถนะ ความเป็นอิสระทางความคิด การเป็นผู้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองที่เกิดจากการปฏิบัติ จะพัฒนาทักษะสมอง EF
  1. ได้หลักการและตัวอย่างเรื่องทักษะสมอง EF ที่จะนำไปสอนในชั้นเรียน
  • ได้เห็นเป้าหมายของการนำเรื่องทักษะสมอง EF ไปสอนในรายวิชาสมองกับการเรียนรู้ว่ามีเป้าหมายเพื่ออะไร
  • ได้หลักการที่จะ apply ทฤษฎีพัฒนาการต่างๆ กับการทำงานของสมองและการเรียนรู้
  • ได้ตัวอย่างการสร้างการเรียนรู้เรื่องทักษะสมอง EF ด้วยกระบวนการคิด ประสบการณ์ตรง เกม กิจกรรม การสะท้อนความรู้สึก ซึ่งนอกจากผู้เรียนจะได้เรียนรู้เข้าใจเนื้อหาอย่างชัดเจนลึกซึ้งแล้ว ยังเกิดความเข้าใจในตัวเอง เห็นคุณค่าตัวเอง และเกิดความสุขจากการเรียนรู้อีกด้วย
  • ได้หลักการและความรู้ในการจัดทำแผนจัดประสบการณ์ EF สำหรับนักศึกษา รวมทั้งตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิด วาดภาพ ไตร่ตรอง ตัวอย่างของการกำหนดวัตถุประสงค์ วิธีการสอน เป้าหมาย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำแผนการเรียนการสอน
  • ได้หลักการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติให้มากขึ้น โดยดึงประสบการณ์เดิมของผู้เรียน และได้รับการเสริมความเชื่อมั่นว่า มาถูกทางแล้วที่ใช้กระบวนการสอนแบบ Active Learning
  • ได้หลักการสร้างบรรยากาศ สร้างสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนที่มีความสุข มีความท้าทาย ทำให้ผู้เรียนมีตัวตน เห็นคุณค่าของตนเอง ซึ่งเอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนา EF ได้เห็นตัวอย่างของการให้โอกาส การสร้างบรรยากาศเชิงบวกตลอดการอบรม
  • ได้เห็นความสำคัญของการสอนที่เน้นกระบวนการมากกว่าเน้นเนื้อหา ได้เรียนรู้กระบวนการจัดกิจกรรมที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่วัตถุประสงค์ โดยไม่ต้องให้เนื้อหาก่อน แต่ให้โอกาสผู้รับสกัดความรู้ด้วยตนเอง และเข้าใจเรื่องทักษะสมอง EF ทั้งหมดมากขึ้น ได้เห็นความสำคัญและตัวอย่างของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านการสะท้อนคิด
  • ได้เรียนรู้ว่า ต้องให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเจตคติที่ดีต่อการเป็นครูให้กับนักศึกษาก่อนให้ความรู้
  • ได้หลักการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยการฝึกตนเองในการจัดกระบวนการตามวงจรการจัดการเรียนรู้ ได้หลักการสร้างแนวทางการสอนที่เป็นของตนเองและเป็นประโยชน์ต่อลูกศิษย์ทั้งเด็กเล็กและนักศึกษามากขึ้น
    • ได้เรียนรู้ เข้าใจการทำงานที่ต้องมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และต้องเกาะติดเป้าหมายไปจนจบกระบวนการ ได้เห็นตัวอย่างการทำงานแบบเกาะติดเป้าหมาย จัดลำดับ ร้อยเรียงเนื้อหาและกิจกรรม จากกระบวนการจัดอบรม

3.เกิดความคิดความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน

  • เกิดความเข้าใจว่าบทบาทของตัวเองที่เป็นผู้สอนจะต้องเปลี่ยนไป ผู้สอนจะต้องเป็น Coach เป็นผู้สนับสนุน ผู้จัดกระบวนการ
  • เกิดความตั้งใจที่จะเปลี่ยนทัศนคติต่อตัวนักศึกษา จะต้องให้ความเคารพในความเป็นมนุษย์ ศักยภาพ ตัวตนของนักศึกษา ทั้งในแง่มุมมอง ความรู้สึกนึกคิด และการกระทำต่อนักศึกษา รวมทั้งต้องมองนักศึกษาในฐานะนักศึกษาครู ซึ่งจะเป็นผู้นำแนวคิด แนวทางของ EF ไปก่อร่างสร้างบุคลากรที่งดงามของชาติต่อไป
  • เกิดความตั้งใจจะเปลี่ยนตัวเองโดยการศึกษาหาความรู้ ทำความเข้าใจในสิ่งที่จะสอนอย่างลุ่มลึกในทุกๆ เรื่อง เรียนรู้ ทำความเข้าใจ แล้วนำไปใช้ ลงมือทำให้นักศึกษาเห็น และสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ เรียนรู้อย่างมีความสุข
  • เกิดความตั้งใจจะเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอน โดยจะให้ความสำคัญกับตัวตนของนักศึกษาให้มากที่สุด จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนรู้อย่างมีความหมายมากขึ้น ไม่ใช่เรียนให้ผ่านๆ ไป จะให้นักศึกษาได้พบประสบการณ์ที่ทำให้นักศึกษามั่นใจในตัวเองในการนำความรู้ไปจัดกิจกรรมให้เด็กปฐมวัย และไม่ลืมที่จะปลุกเจตคติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสมอง EF ให้โอกาส ให้กำลังใจผู้เรียน
  • เกิดความตั้งใจจะเปลี่ยนวิธีการสอนแบบเดิม ที่ไม่มีเป้าหมาย ที่เน้นสอนเนื้อหา ไปสู่การสอนแบบใหม่ที่มีเป้าหมายชัดเจน ย่อยความความรู้ให้ชัดก่อนนำไปสอนนักศึกษา เน้นกระบวนการ ใช้กิจกรรมนำสู่การเรียนรู้ เปลี่ยนจากการบรรยาย+ใบงาน ไปเป็นให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติให้มากที่สุดเพื่อนำไปสู่ทักษะและการเรียนรู้ หรือเปลี่ยนจากกิจกรรมเยอะแต่ไม่มีการสรุปสะท้อน ไปสู่การสอนแบบใหม่ที่จะสะท้อนผลเมื่อจบกิจกรรม ให้นักศึกษามีส่วนร่วมมากขึ้น ผู้สอนมีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาให้มากขึ้น เน้นให้นักศึกษาสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยใช้วงจรการเรียนรู้ เน้นการสร้างทักษะเพื่อให้เกิดสมรรถนะ ใช้กระบวนการและเทคนิคที่ทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • เกิดความตั้งใจจะเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมให้มีความสอดคล้องกับเนื้อหา แนวคิด วัตถุประสงค์ การประเมินผล และสามารถตรวจสอบได้

3.ได้ความรู้เรื่อง EF ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง

  • การเข้าใจเรื่อง EF ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง mindset ของมนุษย์ที่มีต่อมนุษย์ด้วยกัน ทำให้
    มองเห็นคุณค่า เห็นศักยภาพกันและกันมากขึ้น ได้ความเข้าใจกระบวนการ EF ที่หล่อหลอมในคนทุกคนเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ได้เรียนรู้ว่ามนุษย์เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงได้อย่างเต็มศักยภาพ บนพื้นฐานของความแตกต่างภายในตัวบุคคล
  • เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง พัฒนาตนเองให้มีทักษะสมอง EF และเปลี่ยนทัศนคติซึ่งส่งผลกระบวนการคิด การทำงาน โดยเฉพาะบทบาทของความเป็นครู
  • เห็นความสำคัญของการพัฒนาตนเอง เพื่อจะได้ไปพัฒนาผู้อื่นต่อได้ จากการทบทวนตัวเอง โดยใช้หลักการของ EF เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเอง ได้ตระหนักว่าการจะพัฒนาผู้อื่น เปลี่ยนแปลงผู้อื่น ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองก่อน การปรับเปลี่ยนตัวเองที่ง่ายที่สุดอันดับแรกคือ การมองตัวเอง เพื่อให้เข้าใจและยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น ได้ตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน โดยเริ่มที่ตัวเราซึ่งเป็นครูของครู ผู้ที่จะเป็นต้นแบบให้นักศึกษาได้มองเห็นคุณค่าของการพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงเห็นความสำคัญของเด็กปฐมวัย ครูของครูจะเริ่มจากจุดเล็กๆ โดยการพัฒนาการสอนของตัวเอง
  1. ได้เห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของอาชีพครูปฐมวัย
  • เห็นความสำคัญ เห็นคุณค่าของความเป็นครูปฐมวัยที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาเด็กที่อยู่ ในช่วงวัยสำคัญ
  • เห็นความสำคัญของความเป็นครูของครู เห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของนักศึกษาสาขาปฐมวัย
  • เห็นคุณค่าของตนเองในการได้รับมอบหมายให้สอนรายวิชาสมองกับการเรียนรู้มากขึ้น
  • ได้รับการเติมเต็มความรู้สึกของความเป็นครู เป็นมนุษย์ ที่อยากให้และแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่ได้รับจากคณะวิทยากร
  • การเห็นความสำคัญของตัวเอง ทำให้เกิดความมุ่งมั่น ฮึกเหิมที่จะนำความรู้ไปถ่ายทอด
  • รู้บทบาทหน้าที่ รู้ว่ามีหน้าที่ที่จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ไปพัฒนานักศึกษาครู เพื่อไปพัฒนาเด็กปฐมวัย
    ให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและปลอดภัย
  1. เห็นคุณค่าของตัวเอง ยอมรับความแตกต่างของตัวเองและคนอื่น
  • ได้ทบทวนตัวเอง ได้อยู่กับตัวเอง ได้ค้นหาตัวตนว่าเราเป็นใครและกำลังทำอะไร เพื่อ
    ใคร ได้ค้นพบตัวเอง เข้าใจตัวเองทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน
  • ตระหนักรู้ถึงคุณค่า ถึงตัวตน ถึงความสามารถของตนเอง ยอมรับในสิ่งที่ขาดหรือบกพร่อง ไม่ว่าจะ
    อยู่ในฐานะบทบาทหน้าที่ใด
  • เมื่อเข้าใจตัวเอง ย่อมเข้าใจผู้อื่น ซึ่งทำให้ยอมรับผู้อื่นที่มีความแตกต่างได้
  • ได้เข้าใจว่าสิ่งที่สำคัญกว่าความรู้คือการตระหนักรู้ในตนเอง
  1. มีความหวัง มีแรงบันดาลใจ มีกำลังใจ มีเป้าหมาย
  • มีแรงบันดาลใจในงานที่ทำก้าวต่อไป สิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ มั่นใจว่าจะสามารถผ่านไปได้
  • เห็นเป้าหมายของตัวเองชัดเจนขึ้น
  • มีความหวัง มีกำลังใจที่จะทำงานในฐานะครูของครูปฐมวัยต่อไป จากการได้รับกำลังใจ พลังบวกจากทีมวิทยากร จากเพื่อนผู้เข้ารับการอบรม
  • มีความหวังที่อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏจะได้รับการยกระดับให้เป็นแถวหน้าของการศึกษาไทย